โรคแอนแทรกซ์
โรคแอนแทรกซ์ คืออะไรโรคแอนแทรกซ์ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียบาซิลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก รูปร่างเป็นเส้นยาวรี (Gram positive rod) มักพบในดินและอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในสัตว์ที่เลี้ยงในบ้าน หรือสัตว์ป่าได้ โรคนี้พบได้ทั่วโลก แต่เร็ว ๆ นี้มีข่าวการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านของไทยจึงทำให้มีคนสนใจมากขึ้น และแนะนำให้เฝ้าระวังกัน โดยคนเราสามารถรับเชื้อนี้ได้ จากการสัมผัสสัตว์ที่ติดเชื้อ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากสัตว์ต่างๆ เช่น ผม ขน เนื้อ หรือนม เป็นต้น แต่แอนแทรกซ์จะไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้เราติดโรคแอนแทรกซ์ได้อย่างไรคนเราสามารถติดได้เมื่อสปอร์ของแบคทีเรียหลุดเข้ามาในร่างกายเพาะตัวขึ้นเกิดการแบ่งตัว และแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย แบคทีเรียจะผลิตสารพิษ (Toxins) และทำให้เกิดอาการที่รุนแรงได้สปอร์สามารถเข้าร่างกาย ทั้งทางการหายใจ การโดนบาดหรือมีแผลที่ผิวหนัง ดื่มน้ำ หรือกินอาหารที่ปนเปื้อน โดยเฉพาะนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ หรืออาหารสุกดิบ นอกจากนี้ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ก็มีความเสี่ยงสูงโรคแอนแทรกซ์ มีอาการอย่างไรโรคแอนแทรกซ์ แบ่งออกเป็น 4 ชนิด ซึ่งจะมีอาการแสดงแตกต่างกัน เนื่องจากสปอร์ของแบคทีเรียสามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้หลายทาง อาการจึงสามารถแบ่งได้ดังนี้แอนแทรกซ์ในทางเดินหายใจ มักเกิดจากที่สูดดมเชื้อแบคทีเรียเข้าไป มักพบในคนที่สัมผัสผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีการปนเปื้อน เช่น ในอุตสาหกรรมที่มีการตัดขนสัตว์ หรือแปรรูปขนสัตว์ให้เป็นเสื้อผ้า มีรายงานในคนที่ตีกลองขนสัตว์ (Animal hide drums) เป็นต้น มักมีอาการไข้ หนาวสั่น อึดอัดแน่นหน้าอก ไอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน สับสน มึนหัว เหงื่อออกมากจนชุ่ม อ่อนเพลียมาก และปวดเมื่อยตามตัวแอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง มักเกิดจากการปนเปื้อนที่ผิวหนังที่รอยตัด หรือแผลถลอก มีตุ่มหนองซึ่งมักจะคัน รอบแผลจะมีอาการบวมมาก ต่อมามักพบแผลลึกที่มีศูนย์กลางเป็นสีดำ ซึ่งระยะนี้มักจะไม่คัน ส่วนมากแผลมักพบที่บริเวณหน้า คอ แขน หรือมือ เพราะมักเป็นส่วนที่สัมผัสนอกร่มผ้าแอนแทรกซ์ในทางเดินอาหาร มักเกิดจากการกินอาหารสุกดิบ หรือน้ำนมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในประเทศที่อาจไม่ได้มีการฉีดวัคซีนต้านแอนแทรกซ์ในปศุสัตว์อย่างสม่ำเสมอ หรือไม่ได้มีการตรวจก่อนทำการชำแหละเนื้อมาขายหรือบริโภค ผู้ติดเชื้อมักมีอาการไข้ หนาวสั่น เจ็บคอเวลากลืน เสียงแหบ คอบวม ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโต คลื่นไส้อาเจียน บางครั้งอาจมีอาเจียนเป็นเลือด หน้าแดง ตาแดง ปวดท้อง ปวดศีรษะ ถ่ายเหลว ถ่ายเป็นเลือด ท้องบวม หรือหมดสติเป็นลมได้แอนแทรกซ์จากการฉีดยาเข้าเส้น พบได้น้อย แต่มีรายงานในยุโรป ในผู้ติดยาเสพติดแบบฉีดเข้าเส้น เช่น เฮโรอีน อาจมีไข้ หนาวสั่น ที่ผิวหนังบริเวณที่ฉีดมักพบเป็นกลุ่มฝีหนองขนาดเล็กหรือผิวที่บวมขึ้นมา ต่อมาค่อยมีแผลตรงกลางสีดำที่ไม่เจ็บ แต่บวมรอบแผล ถ้าฉีดลึกอาจมีฝีหนองขนาดใหญ่ใต้ชั้นผิวหนังได้ แม้อาการจะคล้ายกลุ่มแอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง แต่อาจจะทำให้เกิดการกระจายได้อย่างรวดเร็วเมื่อเชื้อเข้ากระแสเลือดโรคแอนแทรกซ์ มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร>แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการที่สงสัย ร่วมกับความเสี่ยง หากเกิดจากการหายใจ ควรตรวจเอกซเรย์ หรือ การตรวจซีทีสแกน โดยอาจเห็นมีน้ำในปอด หรือ ช่องอกที่กว้างขึ้น (Mediastinal widening)การวินิจฉัยยืนยันสามารถทำได้โดยการวัดแอนติบอดีหรือระดับพิษในเลือด หรือตรวจแบคทีเรียบาซิลัส แอนทราซิสในสิ่งส่งตรวจ ซึ่งได้แก่ เลือด ผิวหนังที่มีรอยโรค น้ำไขสันหลัง เสมหะ หรือน้ำในปอด โดยหากเก็บสิ่งส่งตรวจก่อนให้ยาปฏิชีวนะ จะทำให้มีโอกาสสามารถพบเชื้อได้มากขึ้นโรคแอนแทรกซ์ มีวิธีการรักษาอย่างไรรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ได้แก่ เพนนิซิลิน ด๊อกซีไซคคลิน หรือกลุ่มควิโนโลน นอกจากนี้ยังมียาที่ต้านพิษที่สร้างจากเชื้อและเป็นยาปฏิชีวนะด้วย คือ คลินดาไมซิน ลิเนโซลิดบางรายอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะหลายขนานหากมีอาการรุนแรง เช่น ถ้าติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง ต้องใช้ยาอย่างน้อย 3 ตัว โมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal antibody) และอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ที่จำเพาะกับเชื้อก็มีการนำมาใช้ด้วยผู้ป่วยบางรายแม้ว่าจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้แล้ว แต่พิษจากเชื้ออาจยังมีผลรุนแรงที่ต้องนอนในหอผู้ป่วยวิกฤต หรือต้องใส่ท่อช่วยหายใจ